top of page

การสอนภาษาไทยออนไลน์ให้เด็กไทยในต่างแดน

  • tach-swiss
  • 27 มิ.ย. 2564
  • ยาว 1 นาที

อัปเดตเมื่อ 29 มิ.ย. 2564

โดย ครูเดี่ยว จาก www.thai-lernen-lauterstein.de

ในช่วงสถานการณ์ที่ผู้คนต้องรักษาระยะห่างและสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเองและผู้อื่น คงจะมีคุณครูหลายท่านที่จำเป็นต้องผันตัวเองมาสอนออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การสอนออนไลน์สำหรับคุณครูบางท่านยังเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่หมดเลย นับตั้งแต่การเลือกใช้โปรแกรมหรือช่องทางการสอนออนไลน์ที่เหมาะสม สื่อการสอน จำนวนนักเรียน และเทคนิคการสอนเล็ก ๆ น้อย ๆ ในห้องเรียนออนไลน์ที่คุณครูอาจจะคาดไม่ถึง

หรือมองข้ามไป

สำหรับครูเดี่ยวแล้ว การสอนออนไลน์จะประสบความสำเร็จได้นั้น ประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น การที่ครูทำทุกอย่างด้วยใจ การที่เด็กมาเรียนด้วยใจ อีกทั้งการฝึกและการทำการบ้านอย่างสม่ำเสมอ ผู้ปกครองที่คอยเกื้อหนุนอยู่เบื้องหลังด้วยความเข้าอกเข้าใจ สื่อที่น่าสนใจและหลากหลาย อีกทั้งวิธีการนำเสนอสื่อให้โดนตาโดนใจเด็ก

แน่นอนว่าการแยกเด็กตามความสามารถทางภาษาและอายุก็สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ครูเดี่ยวจะสอนนักเรียนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น ครูแนะนำให้แยกเด็กออกเป็นกลุ่มละ ๓-๕ คน มันจะได้ผลดีกว่าการสอนเด็กกลุ่มใหญ่ และเพื่อที่ว่าครูจะได้ดูแลเด็กอย่างทั่วถึง เด็กจะไม่ขาดความรู้สึกว่าครูไม่ให้ความสำคัญกับพวกเขา เด็กที่เรียนช้าจะได้ไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง เด็กที่เรียนเร็วจะได้ไม่เบื่อ อีกทั้งเด็กทุกคนจะได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพในชั้นเรียน ที่สำคัญ ครูจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กทุกคนตลอดชั่วโมงเรียน กลุ่มเล็กไปก็ไม่ดี เพราะเด็กอาจจะเครียดหรือเบื่อได้


ครูเดี่ยวได้เริ่มต้นสอนภาษาไทยให้ทั้งผู้ใหญ่ชาวต่างชาติและเด็กไทยในเยอรมนีมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ ในปัจจุบันใช้โปรแกรม Zoom ในการสอน ส่วนใหญ่ครูจะอัดวิดีโอไว้ให้เด็กดูทบทวนย้อนหลังได้ เผื่อนักเรียนที่ขาดหรือลาด้วย เวลาสอนครูจะใช้ระบบออนไลน์ทางโปรแกรม Zoom จากโน้ตบุ๊ก แล้วแชร์หน้าจอผ่านเครื่องแท็บเล็ต iPad ที่มีปากกาเขียนหน้าจอได้ ถ้าใครไม่มี iPad แต่อยากได้ปากการาคาประหยัดมาใช้ ก็สามารถซื้ออุปกรณ์เสริมประเภท Graphic Tablet มาใช้แทนได้ มันจะมีปากกาด้วย มีหลายยี่ห้อ มีทั้งแบบแสดงหน้าจอได้และไม่ได้ ราคาสบายกระเป๋า


ปรกติครูจะสอนเด็กแต่ละกลุ่มอาทิตย์ละครั้ง ครั้งละ ๖๐ นาที หลังจากทักทายเด็กแล้ว ครูจะชอบเปิดห้องเรียนให้เด็กทบทวนเนื้อหาที่เรียนมาโดยการเล่นเกมสดที่ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมผ่านโปรแกรม Kahoot หรือเกมจาก Wordwall ตอนนี้ก็จะมีเกมเปิดแผ่นป้ายจาก Baamboozle เข้ามาช่วยเพิ่มสีสันและเปลี่ยนบรรยากาศ ครูชอบเกมและโปรแกรมที่ใช้งานง่าย ครูจะสร้างเกมเหล่านี้เพื่อเป็นแบบฝึกหัดในชั่วโมงเรียนและเกมการบ้านออนไลน์ให้เด็กไปฝึกทบทวนเรื่องที่เรียนไปแล้วด้วย


จากนั้นจึงจะเริ่มเข้าสู่เนื้อหาใหม่ ส่วนใหญ่ครูจะนำเสนอคำศัพท์หรือเนื้อหาสำคัญผ่านโปรแกรม Keynote จุดนี้ครูจะนำคำศัพท์หรือส่วนสำคัญในเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอมาทำเป็นไฟล์ขนาดเอสี่ไว้ล่วงหน้าสำหรับแต่ละหัวข้อ มีทั้งแนวตั้งและแนวนอนตามความเหมาะสม เน้นขนาดตัวหนังสือที่ใหญ่ชัดเจน อีกทั้งรูปภาพและสีสัน ถ้าใครไม่มีโปรแกรมนี้ก็สามารถใช้โปรแกรม PowerPoint แทนได้ สองโปรแกรมนี้มันมีรูปแบบการใช้งานและลูกเล่นที่คล้ายกัน บางทีครูก็จะนำเสนอสื่ออุปกรณ์ของจริงแทนบัตรคำหรือสื่อดิจิทัล จุดนี้อาจจะเล่นเกมระดมสมอง (Brainstorming) จาก Oncoo ก็ได้

หลายหัวข้อครูจะทำวิดีโอแล้วอัปโหลดขึ้น YouTube เพื่อส่งลิงก์ให้เด็กได้ดูล่วงหน้าและใช้ทบทวน วิธีนี้จะทำให้เราประหยัดเวลาในชั่วโมงเรียนและช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เด็ก นอกจากนี้จะช่วยลดภาระงานของครูในระยะยาวและลดความเครียดของเด็กด้วย เพราะเขาได้ศึกษาคำศัพท์ล่วงหน้ามาแล้ว

พอนำเสนอเนื้อหาใหม่เสร็จครูก็จะพานักเรียนทำกิจกรรมหรือเล่นเกมเพื่อฝึกในสิ่งที่เรียนไปแล้ว ถ้าเป็นคอร์สสนทนาเด็กต้องฝึกพูดและถามตอบกันเองตามโครงสร้างในหนังสือหรือสื่อที่ครูส่งไปให้ โดยมีครูคอยเป็นพี่เลี้ยง ถ้าครูอธิบายคำศัพท์และเนื้อหาโครงสร้างที่เรียนให้นักเรียนเข้าใจแล้ว ผู้เรียนก็จะสามารถสื่อสารกันเองได้โดยที่ไม่ต้องมีผู้ปกครองมานั่งเป็นพรายกระซิบ แต่ไม่ว่าจะสอนเรื่องใดก็ตาม ครูชอบให้ผู้ปกครองนั่งสังเกตการณ์อยู่แถวนั้น ถ้าเด็กไม่ขัดข้องอะไร เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้เรียนรู้วิธีการสอนของครูและนำไปฝึกกับลูกทีหลังได้ ครูจะคอยสอดแทรกเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยและวัฒนธรรมไทยเข้าไปด้วยตามบริบทนั้น ๆ


ถ้าเป็นเรื่องการอ่านและการเขียน ขั้นตอนนี้ส่วนใหญ่ครูจะใช้โปรแกรม GoodNotes เพราะครูจะดึงไฟล์สื่อการเรียนการสอนมาลงไว้ตรงนี้เพื่อความสะดวกในการใช้งาน โปรแกรมนี้ครูสามารถขีดเขียน ขยาย แต่งเติม เลื่อนสื่อแต่ละจุดและแต่ละหน้า หรือสิ่งที่ขีดเขียนได้ตามต้องการ ครูชอบตรงที่เราสามารถแปลงไฟล์ได้หลากหลาย สื่อส่วนใหญ่ที่ครูมีอยู่หน้าจอ เด็กก็จะมีอยู่ในมือด้วย บางหัวข้อครูจะพาเด็กทำสื่อประกอบการเรียนขึ้นมาเอง


พอเด็กได้ฝึกแล้วครูก็จะพาเด็กสรุปเนื้อหาด้วยกิจกรรม แบบฝึกหัด การพูดคุย การทดสอบโดยไม่ให้เขารู้ตัว หรือเกมต่าง ๆ เช่น เกมหาของตามคำศัพท์หรือสิ่งที่เรียน ใบ้ท่าทางคำศัพท์หรือสถานการณ์ วาดรูปให้ทายคำตอบ ทายคำจากเสียง พูดผิดแล้วให้เด็กแก้ เกมแม่ค้าออนไลน์ เกมเหล่านี้เราสามารถนำไปดัดแปลงใช้ในขั้นตอนการฝึกและทำกิจกรรมได้ด้วย ถ้าคุณครูมีกระดิ่งหรือของเล่นที่มีเสียงเพื่อใช้เรียกร้องความสนใจเด็กได้ยิ่งดี ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับบริบทด้วย


จากนั้นก็จะให้การบ้านเด็กจากสื่อที่เขามีอยู่ในมือ บางหัวข้อที่สามารถให้เด็กลองปฏิบัติสิ่งเหล่านั้นที่บ้านได้ก็จะให้เด็กทำและอัดวิดีโอผ่านสื่อหรือโปรแกรมต่าง ๆ ส่งมาให้ครูตามความถนัดของเด็กแต่ละคน เช่น TikTok บางหัวข้อครูจะแต่งเรื่องสั้นแล้วให้เด็กแต่ละคนเลือกประโยคที่ชอบไปวาดรูปประกอบเป็นการบ้าน จากนั้นครูจะนำภาพที่เด็กวาดมาประกอบลงในเรื่องสั้น แล้วทำเป็นหนังสือเล่มเล็กที่มีแบบฝึกหัดอยู่ท้ายเล่มหรือแบบฝึกหัดออนไลน์แจกเด็ก ๆ หรือส่งเป็นไฟล์ PDF กลับไปให้ฝึกอ่านเรื่องที่สมบูรณ์อีกครั้ง เด็กแต่ละคนจะมีอัลบั้มลับในเฟซบุ๊กเป็นของตัวเองเพื่อใช้เก็บการบ้านและผลงานต่าง ๆ ครูชอบให้ผู้เรียนอัดวิดีโอที่อ่านหรือพูดแบบไม่ให้เห็นหน้าเด็กมาส่ง แค่นำกล้องไปจ่อเรื่องที่กำลังอ่านหรือพูดก็พอ ให้ชี้ในสิ่งที่อ่านหรือพูดด้วย ครูเน้นเรื่องส่งการบ้านให้ทันและสม่ำเสมอมาก เพราะสื่อที่ทำจะเป็นสื่อขั้นบันได ผู้เรียนต้องเรียนเนื้อหาที่ต่อเนื่องกัน ถ้าขาดเรื่องใดไปเด็กก็จะตามไม่ทันเพื่อนหรือไปต่อได้ยาก ส่วนใหญ่ครูก็จะมีการบ้านเป็นเกมออนไลน์เกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนไปด้วย


ถ้าหากว่ามีเวลาเหลือก็จะพูดคุยสอบถามถึงปัญหาและข้อดีข้อเสียของสิ่งที่เคยเรียนไปแล้ว แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข หรืออาจจะเป็นเรื่องที่เด็กสนใจที่ไม่เกี่ยวกับบทเรียนเลย เพื่อเป็นการเรียนรู้เด็กนอกห้องเรียนไปอีกแบบ เราสามารถหาข้อมูลเหล่านั้นมาปรับใช้ในการทำสื่อได้อีกด้วย เช่น อาจจะนำสิ่งที่เด็กชอบเข้ามามีส่วนร่วมในเนื้อหาของสื่อหรือนำมันเข้ามามีบทบาทในชั่วโมงเรียนต่อไป


ทุกครั้งที่เตรียมการสอนและทำสื่อ ครูเดี่ยวจะยึดหลักง่าย ๆ แต่ได้ผล “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”

ถ้าเราเป็นเด็ก เราอยากจะเรียนกับสื่อและวิธีการสอนแบบไหน เราอยากให้คุณครูใช้สื่อและวิธีการสอนอย่างไร จากนั้นก็ลงมือทำ พอนำไปใช้จริงก็จะเห็นข้อดีข้อเสียของมัน จากนั้นก็จะนำมาปรับปรุงและลองนำไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มต่อไป พอเด็กเริ่มอ่านคล่องขึ้น ครูจึงจะดึงสื่อจากอาจารย์ท่านอื่นมาเสริม หรือสื่อที่ซื้อจากอาจารย์ท่านอื่นในเฟซบุ๊ก ต้องเป็นสื่อที่ดีและน่าสนใจ จะไม่มีการดึงเนื้อหามาแบบมั่ว ๆ ไม่เช่นนั้นมันจะไม่ต่อเนื่องกับสิ่งที่กำลังสอนอยู่ แถมเด็กจะรู้สึกว่ามันยาก เพราะมันจะมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่เข้ากับเด็กไทยในต่างแดน แต่ครูจะปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้เข้ากับเด็กแต่ละคอร์สที่สอนอยู่


หากต้องการสอนออนไลน์ให้ได้ผลและมีความสุขทุกฝ่าย ก็อย่าลืมกุญแจสำคัญที่ครูกล่าวมาแล้วข้างต้น ครูและเด็กที่มาด้วยใจ ผู้ปกครองที่คอยสนับสนุน อีกทั้งสื่อและเทคนิคการสอนที่ดึงดูดใจผู้เรียน รวมไปถึงการแยกเด็กตามความสามารถทางภาษาและอายุ จำไว้ว่าทุกครั้งที่ผู้ปกครองส่งลูกมาเรียนเขาก็จะมีความคาดหวังว่าเด็กต้องได้อะไรใหม่ ๆ กลับไปทุกครั้ง ตัวเด็กเองก็เหมือนกัน พยายามทำทุกอย่างให้ง่ายและน่าเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้มันฝึกฝนกันได้ ทุกครั้งที่เราได้ลงมือทำ ได้ลงมือสอนและศึกษาเรียนรู้ นั่นคือเรากำลังฝึกฝนและพัฒนาตนเองอยู่ วันเวลาจะทำให้เราแกร่งและชำนาญขึ้น ขอให้ทำมันด้วยใจและความพากเพียร ซึ่งผลประโยชน์มันจะไม่ได้ตกอยู่ที่ตัวครูเท่านั้น แต่มันจะไปตกอยู่ที่เด็กไทยในต่างแดนที่ต้องการเรียนรู้ภาษาแม่ของตัวเองและผู้ปกครองของเด็กเหล่านั้นด้วย เมื่อไรที่เราหยุดพัฒนาตนเอง สื่อและการเรียนการสอนของเราก็จะย่ำอยู่กับที่ พยายามเปิดใจและบางครั้งต้องคิดต่างด้วย เพื่อเปิดโลกทัศน์ของการเรียนรู้และพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยให้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป ความรู้ ยิ่งเรียนยิ่งรู้ ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งแบ่งปันยิ่งมีประโยชน์


ช่องทางติดต่อครูเดี่ยว




โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comentarios


สมาคมครูไทยในสวิตเซอร์แลนด์

Thai Teachers' Association in Switzerland

Verein der thailändischen Lehrpersonen in der Schweiz

Association des enseignants thaïlandais en Suisse

Associazione Svizzera degli insegnanti di thailandese

ที่ตั้งที่ทำการ:

Thai Teachers Association in Switzerland

Tschuggenstrasse 27
7000 Chur

 

ประธาน
คุณสิริโสภา พาบส์  
Mrs.Sirisopa Pabst
เบอร์โทร: 079 129 74 55

E-Mail: tach.swiss@gmail.com

ติดต่อเรา

(ขอบคุณที่ติดต่อเรามานะคะ)

© 2024 by TACH-SWISS.CH

bottom of page