top of page

เทคนิคการสอนภาษาไทยให้กับเด็กไทยในต่างแดน โดย ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์

  • tach-swiss
  • 2 มิ.ย. 2563
  • ยาว 3 นาที

อัปเดตเมื่อ 21 ส.ค. 2563

สิ่งที่ครูต้องมี

1. จิตวิญญาณความเป็นครู

2. องค์ความรู้

3. วิธีการที่จะนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอด

การจะสอนภาษาไทยให้เด็กๆ ลูกครึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลา ครูจึงต้องวางเป้าหมายว่า “ต้องการให้เด็กมีความสามารถในทักษะใด”

· ฟัง

· พูด

· อ่าน

· เขียน

เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาที่ไม่อำนวยหรือมีข้อจำกัดในด้านอื่นๆ ทำให้เป็นไปได้ยากที่ครูจะสอนให้เด็กๆ มีความสามารถครบทั้ง 4 ทักษะ เราจึงต้องมาแบ่งประเภทของทักษะเป็นกลุ่มได้ดังนี้

  • ทักษะการฟังและการอ่าน เป็นทักษะทางการสื่อสารที่อยู่ในประเภทของการรับสาร

  • ทักษะการพูดและการเขียน เป็นทักษะทางการสื่อสารที่อยู่ในประเภทของการส่งสาร

ผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่ มีความต้องการและเห็นถึงความสำคัญของทักษะภาษาไทยที่มีความจำเป็นไปในทางเดียวกันคือ ต้องการให้เด็ก สื่อสาร พูดคุยกับคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยายและญาติๆ ที่เมืองไทยได้

ฟัง + พูด = เป้าหมายของครู



การแบ่งระดับการศึกษา/ ชั้นเรียน

ให้จัดตามความสามารถของเด็กไม่ใช่จัดตามระดับอายุ

 

บทบาทสำคัญพ่อแม่นั้นมีความใกล้ชิดกับเด็กมากกว่าครู ซึ่งครูภาษาไทยในต่างประเทศจะมีเวลากับเด็กโดยเฉลี่ยเพียง 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

พ่อแม่ต้องร่วมมือกับครูโดย ช่วยลูกในการทบทวนบทเรียน คิดพัฒนาต่อยอดในสิ่งที่ครูสอนและรายงานพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กแต่ละสัปดาห์ การเสริมทักษะทางด้านภาษาไทยให้กับเด็กสิ่งที่สำคัญคือเราต้องเลือกพูดภาษาใดภาษาหนึ่งกับลูก เช่นหากแม่เป็นคนไทยก็ต้องพูดภาษาไทยกับลูกเสมอ หรือหากเป็นไปไม่ได้ ต้องกำหนดเวลาอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นต่อวันเพื่อพูดและใช้ภาษาไทยกับลูก

ครูกับผู้ปกครองเด็กต้องสื่อสารกันตลอด และสิ่งที่ครูและผู้ปกครองต้องสอนเด็ก ด้วยคือ การสอดแทรกความเป็นไทยทั้งรูปธรรมและนามธรรม

ครูจะต้องปรับทัศนคติกับแม่หรือผู้ปกครองเด็ก ให้เข้าใจไปในทางเดียวกัน เพื่อผู้ปกครองจะได้ให้ความร่วมมือในการช่วยกันพัฒนาภาษาและความเป็นไทยของเด็ก


เทคนิคการสอนแบบต่างๆ

ในการจัดการเรียนการสอน ครูสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้หลากหลายวิธีและสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับเด็กนักเรียน สถานการณ์ และสิ่งแวดล้อม การสอนแบบตามหนังสืออย่างเดียวไม่เพียงพอ ครูต้องใช้เทคนิคการสอนที่หลากหลายเข้ามาใช้บูรณาการในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งวิธีการสอนต่างๆ มีตัวอย่างดังนี้

1. เทคนิคการเปรียบเทียบ ครูต้องพูดภาษาไทยในห้องเรียน อธิบายคำเป็นภาษาไทยให้เด็กแล้วให้เขาเปรียบเทียบเอง (ครูอย่าแปลทุกอย่างให้เด็กแต่ให้อธิบายผ่านท่าทางและการเล่นเกมแทน)

2. เทคนิคการเข้าไปนั่งในใจเด็ก เด็กๆ บางคนอาจมานั่งเรียนเพราะถูกพ่อแม่บังคับให้มา เป็นผลให้บรรยากาศระหว่างครูกับเด็กอึดอัด ไม่มีความเป็นกันเองเนื่องจากเด็กยังไม่เปิดใจรับครู ครูจึงต้องมีเทคนิคบริหารความสัมพันธ์ที่จะทำให้คุณเข้าไปนั่งในใจเด็กได้ด้วยวิธีดังนี้

2.1 การให้รางวัลโดยหาขนมขบเคี้ยว, อาหารทานเล่น การละเล่นที่แสดงถึงความเป็นไทย

2.2 หาหัวข้อสนทนากับเด็กในเรื่องที่เด็กสนใจ เช่น การ์ตูนที่เด็กชอบ, ของเล่น, เกมฮิตที่เด็กๆ รู้จักหรือเป็นที่นิยมในหมู่เด็ก ณ ตอนนี้

เมื่อเด็กๆ รู้สึกว่าเรากับเขาเป็นพวกเดียวกัน ระยะความห่างเหินจะลดน้อยลง ครูสามารถสอดแทรกความเป็นไทย “ความเกรงใจ ความนอบน้อม” ลงไปในระหว่างชั่วโมงเรียนได้ โดยที่ยังคงความเป็นกันเอง ทำให้เด็กกล้าพูด กล้าถามกับครูแต่มีความนอบน้อมอยู่

3. เทคนิค Be yourself ให้ครูมีความเป็นตัวเองในเวลาสอน นำเอาความสร้างสรรค์ ความกระตือรือร้น และบุคคลิกตนเองออกมา

4. เทคนิคใช้ใจคุยกับเด็ก ให้ความเข้าใจ รู้จักใจเขา ไม่บังคับ ไม่ฝืนใจเด็กแต่หาวิธีอื่นเพื่อดึงดูดความสนใจและให้เด็กอยากทำเอง

5. เทคนิคปรับทัศนคติกับเด็ก เราอาจต้องคุยกับเด็กถึงข้อดีถ้าเด็กรู้และเข้าใจภาษาไทย หรือเหตุผลความจำเป็นที่เขาต้องเรียนภาษาไทย

6. เทคนิคเอาเด็กหรือผู้เรียนเป็นที่ตั้ง เด็กอยากเรียนอะไร หามาสอนตามนั้น หรือหาเรื่องราวที่เด็กสนใจและสอดคล้องกับบทเรียนมาสอน

7. เทคนิคไม่ต้องสอนโดยใช้หนังสือเป็นหลัก อาจพาเด็กออกนอกสถานที่หรือทำกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้หนังสือ สอนผ่านกิจกรรม เกม รูปภาพ

8. เทคนิคให้ลูกเป็นครู ให้ลูกสอนพ่อ/แม่ เด็กบางคนไม่กล้าพูดในห้องเรียน เมื่ออยู่บ้านสามารถใช้พ่อ/แม่เป็นสื่อ ผลัดสอนคําศัพท์ ด้วยการให้ลูกสลับบทบาทเป็นครูสอนคําศัพท์ภาษาต่างประเทศ แล้วพ่อ/แม่สอนคำในภาษาไทยให้กับลูก

9. เทคนิคกำหนดเวลาในการพูดภาษาไทยกับลูก พ่อ/แม่ควรให้ความร่วมมือ สนับสนุนการฝึกพูดภาษาไทยที่บ้านกับลูก อาจจะกำหนดเวลาเป็นตอนเย็นอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมงเพื่อพูดคุยและทบทวนความรู้ภาษาไทยกับลูก

10. เทคนิคเรามาอยู่สวิตเซอร์แลนด์ เราฝึกภาษาที่นี่อย่างไร เราเคยใช้วิธีไหนในการฝึก การเรียนภาษา เราก็ใช้วิธีให้ลูกฝึกอย่างนั้น เช่น การเรียนในชั้นเรียน ดูการ์ตูน ฝึกจากยูทูบ อ่านนิทานเด็ก ฝึกพูดคุยกับเพื่อนๆ

11. เทคนิคพูดให้กำลังใจ “อย่าพูดคำว่า Impossible (เป็นไปไม่ได้/ไม่มีทาง) เด็ดขาด” อย่าพูดสิ่งที่บั่นทอนหรือลดกำลังใจ หรือสร้างความลังเล สงสัยว่าจะทำให้เป็นจริงไม่ได้ ครูต้องไม่พูดคำประเภทนี้ต่อตัวของครูเอง ต่อนักเรียนหรือพ่อแม่ของเด็ก

12. เทคนิคใช้สื่อโซเชียลให้เกิดประโยชน์สูงสุด

12.1 สื่อ WhatsApp, LINE โดยการตั้งกลุ่มกับผู้ปกครองเด็ก แล้วสอนโดยใช้เสียงและภาพ (วิธีนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะกรณีเด็กนักเรียนเป็นบุตรบุญธรรมที่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ชาวสวิส ซึ่งพูดสื่อสารภาษาไทยกับเด็กไม่ได้ ครูสามารถอัดคลิปเสียง วิดีโอการออกเสียงให้เด็กชมหรือฟังได้)

12.2 สื่อ Instagram, Facebook ครู/ โรงเรียนสามารถคุยกับผู้ปกครองและให้นักเรียนแอดเพื่อนหรือติดตาม เมื่อครูโพสต์ความรู้ต่างๆ เด็กๆ อาจได้ติดตามภาษาไทยจากการโพสต์ และอาจได้เห็นผ่านตาบ้าง

13. เทคนิคสอนให้เด็กรู้จักเสียงสูง กลาง ต่ำ จากการออกเสียงไม่ใช่การสอนท่องจำตามกลุ่มอักษร สูง กลาง ต่ำ เพื่อใช้เป็นการปรับพื้นฐานให้เด็กและให้เขาสามารถแยกระดับเสียงเป็น ไม่พูดเพี้ยนเป็นเสียง monotone

14. เทคนิคการบอกให้นักเรียนเข้าใจว่าภาษาไทยนั้น เมื่อโทนเสียงเปลี่ยน ความหมายก็เปลี่ยน เช่น ดึง ดึ่ง ดึ้ง ดึ๊ง ดึ๋ง, ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า , ใครขายไข่ไก่

15. เทคนิคการสอนเสียงสั้น เสียงยาว รูปลักษณะปากในการออกเสียงจะเหมือนกันแต่ต่างที่ระยะเวลา

16. เทคนิคการใช้บริบท (ข้อความแวดล้อมที่ช่วยให้เข้าใจความหมายของคำที่เด็กๆ ออกเสียงไม่ชัดกระจ่างขึ้น) ครูไม่ต้องเข้มงวดหรือกดดันให้เด็กพูดถูกต้องหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ จนทำให้บรรยากาศในห้องเรียนเคร่งเครียด แค่ให้เขารู้ว่าเมื่อเขาพูดคำนี้แล้วเขารู้ว่าเขาต้องการพูดอะไรก็พอแล้ว หรือเมื่อเขาพูดแล้วคนฟังเข้าใจว่าเขาหมายถึงอะไร โดยสามารถเข้าใจได้จากบริบท ตัวอย่างเช่นเด็กออกเสียง “หมด” แต่เด็กหมายความว่า “มด” เพราะมีบริบทที่ทำได้เข้าใจได้ว่าเขากำลังพูดถึง “มด”

17. เทคนิคลิสต์คำอันตรายให้เด็ก, นักเรียน, หรือผู้ใหญ่ที่สื่อสารภาษาไทยได้ระดับหนึ่งแล้ว โดยอธิบายให้เขาเข้าใจว่า คำในภาษาไทยบางคำ เมื่อออกเสียงเพี้ยน ความหมายเปลี่ยนและเป็นคำไม่สุภาพ มีความหมายแฝง หรือส่อไปในทางหยาบคาย เช่น กล้วย, ตุด – ตุ๊ด, ทาย – ตาย, มา – หมา, สวย – ซวย เป็นต้น

18. เทคนิคการสอนให้นักเรียนเข้าใจว่าภาษาไทยนั้นมีสูงมีต่ำ (ภาษาไทยนั้นมีระดับ) เราต้องใช้ให้ถูกต้องตามกาละเทศะและบุคคล

กาละเทศะ แบ่งได้เป็น กาละ คือ เวลา, เทศะ คือ สถานที่ เช่น กิน ทาน รับประทาน แดก , คุณ มึง ฯลฯ

19. เทคนิคการสอนคำ โดยเปรียบเทียบทำเป็นเรื่องราว

20. เทคนิคการใช้อวัจนภาษา หรือ Body language เช่น ส่งสายตา การทำเสียง การแสดงท่าทาง

21. เทคนิคการเติมคลังคำให้กับเด็ก

21.1 คำที่ใช้กับคน หรือสิ่งของ

21.2 คำคล้ายกันแต่ใช้แทนกันไม่ได้ เช่น ยกมือ – ยกนิ้ว, ทับถม – ถม, ยกเลิก – เลิก, ยกโทษ – ลดโทษ, ระดับ – ลำดับ, กริยา – กิริยา

22. เทคนิคพูดสั้น ช้า และชัด เพื่อให้เด็กเข้าใจและพูดตามได้ และในภาษาพูดสามารถละประธานและกิริยาก็เข้าใจได้

23. เทคนิค “สุดมือสอย ต้องปล่อยไป” เทคนิคนี้เป็นเทคนิคลำดับสุดท้าย เมื่อเราใช้เทคนิคในข้างต้นทั้งหมดแล้วและไม่ได้ผล เราต้องยอมสละเด็กคนที่เขาไม่ชอบและไม่อยากเรียนภาษาไทย เพื่อเก็บแรงและพลังของเราไว้ใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนส่วนใหญ่ของเราต่อไป

 

เกร็ดความรู้ภาษาไทย

  • พื้นฐานภาษาไทยประกอบด้วย

พยางค์ หมายถึง เสียงที่เปล่งออกมาโดยเสียงนั้นจะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้ โดยเสียงที่เปล่งออกมา 1 ครั้ง เรียกว่า 1 พยางค์ หรือถ้าเปล่งเสียงออกมา 2 ครั้ง เรียกว่า 2 พยางค์ ซึ่งพยางค์หนึ่งจะประกอบด้วยเสียงอย่างน้อยที่สุด 3 เสียง คือ เสียงพยัญชนะต้น เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ (เป็นสิ่งที่ทำให้ภาษาไทยต่างจากภาษาอื่น) บางพยางค์อาจมีเสียงพยัญชนะท้ายเพิ่มอีก 1 เสียง คือ“ตัวสะกด”


คำ คือ เสียงที่เปล่งออกมาแล้วมีความหมาย ซึ่งคำ คำนั้นอาจจะมีหลายพยางค์หรือพยางค์เดียวก็ได้


วลี คือ กลุ่มคำ หรือ คำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป มารวมกัน แต่ใจความยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งวลีเป็นส่วนหนึงของประโยค เช่น อ่านหนังสือ, กินข้าว


ประโยค คือ กลุ่มคำ หรือ คำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปเมื่อนำมาเรียงกันแล้วมีความหมายที่สมบูรณ์ เราจะรู้ได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แก่ใคร เมื่อไหร่ ซึ่งหลักๆจะประกอบด้วย ประธาน+กริยา+กรรม


บทความ คือ ความเรียงที่เขียนขึ้นโดยมีหลักฐานข้อเท็จจริง ในเนื้อหานั้น


  • ประโยค 3 ส่วน ประธาน กริยา กรรม

แมวกินปลา คำว่า "แมว" เป็นประธาน คือ ผู้กระทำ, คำว่า "กิน" เป็นคำกริยา, คำว่า "ปลา" เป็นกรรม คือ ผู้ถูกกระทำ

พ่อรดน้ำต้นไม้ ว่า "พ่อ" เป็นประธาน คือ ผู้กระทำ, คำว่า "รด" เป็นคำกริยา, คำว่า "ต้นไม้" เป็นกรรม คือ ผู้ถูกกระทำ


  • ประโยคประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ ภาคประธานและภาคแสดง

ภาคประธานนั้นประกอบด้วย ประธานและคำขยายประธาน ส่วนภาคแสดงนั้นประกอบด้วย กริยาและคำขยายกริยา และอาจมีกรรมและคำขยายกรรมด้วย


  • การสร้างประโยคในภาษาไทยเราสามารถให้ภาคประธานขึ้นต้นประโยคหรือเราสามารถละประธานแล้วใช้ภาคแสดงขึ้นต้นประโยคก็ได้

ภาคประธานขึ้นต้นประโยค เช่น แม่ไปตลาด , ฉันกินข้าว , เธอคนนี้ดื่มน้ำจุ, พ่อแม่รักลูก

ภาคแสดงขึ้นต้นประโยค เช่น มีข้าวในนา, เกิดฝนตกหนักที่จังหวัดยะลา, ปิดหน้าต่างให้คุณครูด้วย, ห้ามกินขนมในห้องเรียนภาษาไทย


  • หน้าที่ของประโยคตามเจตนาของผู้ส่งสาร แบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

ประโยคแจ้งให้ทราบ คือ ประโยคบอกเล่า แจ้งข้อความบางประการให้ผู้รับสารได้ทราบ รวมไปถึประโยคปฏิเสธโดยใช้คำ ไม่ มิ หามิได้ อยู่หน้าภาคแสดง

ประโยคถามให้ตอบ คือ ประโยคคำถาม ซึ่งผู้ส่งสารใช้ถามเรื่องราวต่างๆ ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร เท่าไร อย่างไร

ประโยคบอกให้ทำ คือ ประโยคที่ผู้ส่งสารใช้เพื่อให้ผู้รับสารกระทำตามความต้องการ อาจจะเป็นคำสั่ง อ้อนวอน เชิญชวนขอร้อง


  • ภาษาไทยมี 2 ลักษณะ คือ

1. ความหมายนัยตรง คำที่มีความหมายตรงตัว

2. ความหมายนัยเปรียบเทียบ (ความหมายนัยประหวัด) คือคำที่ไม่ได้แปลความหมายตรงตัว อาจใช้ ว่า คำที่มีความหมายโดยนัย หรือ คำที่มีความโดยอุปมา


  • ภาษาไทยลักษณะนามจะตามหลังตัวเลข หรือตามหลังคำนาม เรื่องลักษณะนามจะใช้สอนเด็กที่ภาษาไทยเริ่มคล่องแล้ว


  • คำที่ใช้ตัวการันต์/คำที่มีไม้ทัณฑฆาตกำกับ ( ์ ) เพื่อแสดงให้รู้ว่าไม่ต้องอ่านออกเสียงพยัญชนะตัวนั้น ในภาษาไทยตัวการันต์จะกำกับอยู่บนพยัญชนะตัวหลัง เช่น อาทิตย์ เจดีย์ แต่หากเป็นคำยืมจากภาษาอังกฤษจะอยู่บนพยัญชนะที่ไม่ต้องออกเสียงซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่บนพยัญชนะตัวหลังสุด เช่น กอล์ฟ ชอล์ก ฟิล์ม


  • ความแตกต่างระหว่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ภาษาไทย คำหลัก + คำขยาย เช่น รถโรงเรียน

ภาษาอังกฤษ คำขยาย + คำหลัก เช่น School bus


  • ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด (single word) คือภาษาที่เป็นคำพยางค์เดียว


  • ภาษาไทยนั้นอิสระจาก เพศ พจน์ กาล


  • วิธีการใช้คำว่า คะ ค่ะ นะคะ

1) คำว่า "คะ" ใช้กับประโยคที่ต้องการแสดงเสียงสูง อาจเป็นประโยคคำถามหรือเรียกด้วยความ สุภาพ เช่น ไปไหนกันคะ ดูได้ไหมคะ คุณคะเชิญทางนี้

2) คำว่า "ค่ะ" (ออกเสียง ขะ) ใช้กับประโยคที่ต้องการเสียงต่ำ อย่างประโยคบอกเล่า ตอบรับ ตอบ คำถาม เช่น สวัสดีค่ะ ขอบคุณค่ะ ไม่ชอบค่ะ เชิญค่ะ

3) คำว่า “นะคะ” จะใช้กับประโยคบอกเล่า หรือตอบรับเช่นกัน เช่น ขอบคุณมากนะคะ คิดถึงนะคะ เดินทางปลอดภัยนะคะ ส่วนคำว่า “นะค่ะ” ไม่มี

สระในภาษาไทยมี 21 รูป 21 เสียง สมัยก่อนหลายท่านอาจเรียนกันมาสระไทยมี 21 รูป 32 เสียง ปัจจุบันตามหลักภาษาศาสตร์ เสียงสระในภาษาไทยมี 21 หน่วยเสียง ได้แก่เสียงสระเสียงเดี่ยว 18 หน่วยเสียงและเสียงสระประสม 3 หน่วยเสียง

สระเดี่ยว หรือ สระแท้ คือ สระที่เปล่งเสียงออกมาเป็นเสียงเดียว ไม่มีเสียงอื่นประสม มีทั้งสิ้น 18 เสียง ได้แก่ อะ อา อิ อี อึ อื อุ อู เอะ เอ แอะ แอ เออะ เออ โอะ โอ เอาะ ออ

สระประสม คือ สระที่เกิดจากสระเดี่ยวสองเสียงมาประสมกัน มี 6 เสียงดังนี้คือ

เอียะ ประสมจากเสียงสระ อี กับ อะ

เอีย ประสมจากเสียงสระ อี กับ อา

เอือะ ประสมจากเสียงสระ อือ กับ อะ

เอือ ประสมจากเสียงสระ อือ กับ อา

อัวะ ประสมจากเสียงสระ อู กับ อะ

อัว ประสมจากเสียงสระ อู กับ อา

แต่ในการนับจะไม่รวมสระประสมเสียงสั้น 3 เสียง คือ เอียะ เอือะ อัวะ เนื่องจากมีที่ใช้ในภาษาไทยน้อยมาก ส่วนมากจะเป็นคำเลียนเสียงซึ่งไม่ได้ใช้สื่อความหมายอื่น เช่น เพียะ เปรี๊ยะ ผัวะ หรือเป็นคำที่มาจากภาษาจีน

และจะไม่รวมสระเกินทั้ง 8 เสียง เนื่องจากถือว่าเป็นพยางค์ ซึ่งมีหน่วยเสียงในตัวเองโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว คือสระ อำ ไอ ใอ เอา ฤ ฤา ฦ ฦา ซึ่งตามหลักภาษาศาสตร์

สระอำ คือสระอะ ที่มี ม. สะกด

สระไอ ใอ คือสระอะที่มี ย สะกด

สระเอา คือสระอะที่มี ว สะกด

ส่วน ฤ ฤา ฦ ฦา ก็มีเสียง ร และ ล ประสม สระอึ สระอือ


  • เสียง ป ผ พ ฟ ภ ม เป็นกลุ่มที่ออกเสียงง่ายที่สุดเรียกว่า เสียงระเบิด เกิดจากการกักลมที่ริมฝีปาก แล้วปล่อยเสียงออกมา


ช่องทางติดต่อครูลิลลี่

แฟนเพจ : ครูลิลลี่

Facebook : KruDao KruLilly Rojanasupya

Instagram : kru_lilly

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


สมาคมครูไทยในสวิตเซอร์แลนด์

Thai Teachers' Association in Switzerland

Verein der thailändischen Lehrpersonen in der Schweiz

Association des enseignants thaïlandais en Suisse

Associazione Svizzera degli insegnanti di thailandese

ที่ตั้งที่ทำการ:

Thai Teachers Association in Switzerland

Tschuggenstrasse 27
7000 Chur

 

ประธาน
คุณสิริโสภา พาบส์  
Mrs.Sirisopa Pabst
เบอร์โทร: 079 129 74 55

E-Mail: tach.swiss@gmail.com

ติดต่อเรา

(ขอบคุณที่ติดต่อเรามานะคะ)

© 2024 by TACH-SWISS.CH

bottom of page